บอร์ดสนทนา สสจ.ลพบุรี
เมษายน 29, 2024, 02:54:52 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จะ POST กระทู้...กรุณาสมัครสมาชิกก่อนครับเพื่อป้องกัน Spam ครับ
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : พระสูตรมหายานที่ชาวพุทธเถรวาทควรศึกษา  (อ่าน 7695 ครั้ง)
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 01:01:42 pm »

วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : พระสูตรมหายานที่ชาวพุทธเถรวาทควรศึกษา

"GATE GATE PARAGATE PARASAMGATE BODHI SVAHA
คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหา"
"ไป ไป ไปยังฟากฝั่งโน้น ไปให้พ้นอย่างสิ้นเชิง ลุถึง การรู้แจ้ง ความเบิกบาน"

 
Prajna-paramita Hrdaya Sutram (The Heart Sutra) 般若心経



พระสูตรนี้มีชื่อเต็มว่า วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร แปลว่าพระสูตรที่เพชรสำหรับตัดกิเลสอวิชชาและอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความมีความเป็นของสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นพระสูตรฝ่ายมหายานหมวดปรัชญาปารมิตา ที่เน้นการใช้ปัญญาในการนำพาสู่ฝั่งข้างโน้น อันได้แก่พระนิพพาน พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทควรได้อ่าน เพราะประกาศหลักทฤษฎีอนัตตาได้กระจ่าง แสดงจุดยืนของพุทธศาสนาว่าปฏิเสธอาตมันของปรัชญาพราหมณ์อย่างเด็ดขาด และไม่ยอมรับว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะ “มีอยู่” จริง ๆ ได้โดยตัวของมันเองโดยไม่อิงอาศัยสิ่งใด เมื่อทุกสิ่งล้วนต้องอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ดำรงอยู่ได้โดยลำพัง และไม่เที่ยง จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเลย เป็นสักแต่ชื่อเป็นสมมุติบัญญัติเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พระสูตรนี้มีเนื้อหาที่ลุ่มลึกขั้นปรมัตถธรรมอยู่มาก อาจเข้าใจได้ยากแก่ผู้เริ่มศึกษา จำต้องอาศัยการใคร่ครวญพิจารณาเป็นลำดับ ถ้าได้ศึกษาปรัชญามาธยมิกะมาบ้างคงช่วยให้อ่านพระสูตรได้ซาบซึ้งยิ่งขึ้น พระสูตรนี้แปลจากฉบับภาษาจีนของพระกุมารชีวะ โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาผู้ล่วงลับไปแล้ว


ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหารของท่านอณาถบิณฑิกเศรษฐีแขวงเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1250 รูป ก็โดยสมัยนั้นแลเป็นกาลแห่งภัตต์ พระผู้มีพระภาคทรงครองจีวรทรงบาตร เสด็จจาริกไปบิณฑบาตรในนครสาวัตถีโดยลำดับ ครั้นแล้วเสด็จกลับมายังเชตวนารามทรงกระทำภัตกิจเสร็จ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ประทับนั่งสมาธิบัลลังก์

ครั้งนั้นแล พระสุภูติผู้มีอายุได้ลุกขึ้นจากท่ามกลางประชุมสงฆ์ ทำจีวรเฉลียงบ่าด้วยการลดไหล่ขวา แล้วคุกเข่าขวาลงสู่พื้น ประคองอัญชลีมายังพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลถามขึ้นว่า
สุ “ หาได้ยากนักหนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ที่พระตถาคตทรงคอยระฤกในการตามคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์อย่างดียิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า”
พ “ สาธุๆ สุภูติ เป็นความจริงดุจที่เธอกล่าว ตถาคตย่อมตามระฤกในการคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์เป็นอย่างดี เธอจงตั้งใจฟัง เราจักแสดงแก่เธอ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ “
สุ “ อย่างนั้น พระสุคต ข้าพระองค์มีความปลาบปลื้มยินดีเฝ้าคอยสดับอยู่ “

พ “ ดูก่อน สุภูติ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใดๆ คือ จักเป็นอัณฑะชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นชลาพุชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นสังเสทชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นอุปปาติกะกำเนิดก็ดี, หรือจักมีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักโปรดสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวนี้ ให้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ โดยประการฉะนี้ ปราศจากขอบเขตแต่โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ใดๆเป็นผู้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยืดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ในปุคคละลักษณะ ในสัตวะลักษณะ ในชีวะลักษณะไซร้ นั้นหาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่


“ อนึ่ง สุภูติ ในการบำเพ็ญทานบารมี พระโพธิสัตว์จักต้องไม่ยึดติดอยู่ในธรรม กล่าวคือจักบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในรูป ไม่ยึดถือผูกพันในเสียง กลิ่น รส สัมผัส และบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในธรรมารมณ์ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญกุศล อันจักคิดประมาณมิได้เลย สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อากาศเบื้องทิศตะวันออกจักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้าเช่นนั้น อากาศเบื้องทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนอากาศเบื้องบนและเบื้องล่าง จักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”
พ “ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้มีความยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญกุศลอันไม่พึงคิด คำนวณประมาณได้ดุจกัน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงปฏิบัติตามคำสอนอย่างนี้แล”


พ “ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระตถาคตนั้นพึงจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิอาจจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า รูปลักษณะนั้น โดยความจริงแล้วมิได้มีสภาวะรูปลักษณะอยู่เลย”
พ “ ดูก่อน สุภูติ สิ่งที่มีลักษณะทั้งปวง ย่อมเป็นมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่ารูปลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งรูปลักษณะ ก็ย่อมเห็นตถาคตได้ “


สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจักมีสัตว์ใดที่ได้สดับพระธรรมบรรยาย ฉะนี้แล้วแลบังเกิดศรัทธาอันแท้จริงขึ้นหรือหนอ “
พ “ อย่ากล่าวอย่างนั้นซิ สุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 500 ปี หากมีบุคคลผู้ถือศีลบำเพ็ญกุศลมาบังเกิดความศรัทธาอันแท้จริงในพระธรรมบรรยาย นี้แลเขาจักถือว่านั่นเป็นความจริงไซร้ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในพระพุทธเจ้า 1 พระองค์ หรือพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ 3 พระองค์ 4 พระองค์ 5 พระองค์ไม่ แต่เขาได้ปลูกฝังกุศลในพระพุทธเจ้านับด้วยพัน เป็นอเนกนับด้วยหมื่นเป็นอเนกจักนับประมาณพระองค์มิได้ บุคคลใดได้สดับพระธรรมบรรยายนี้บังเกิดจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์แม้เพียงชั่วขณะเดียว สุภูติ ตถาคตย่อมรู้อยู่ ย่อมเห็นอยู่ในเขาเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายนี้ได้บรรลุบุญกุศลอันจักประมาณมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา เพราะสรรพสัตว์เหล่านี้ย่อมจักไม่มีอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะสักษณะ ชีวะลักษณะ ไม่มีธรรมลักษณะหรืออธรรมลักษณะ ด้วยเหตุเป็นไฉน ด้วยเหตุสรรพสัตว์เหล่านี้ ถ้ายังมีจิตยึดถือผูกพันในลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยืดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ หากยังมีความยึดถือในธรรมลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา หรือหากมีความยึดถือในอธรรมลักษณะ ก็ยังชื่อว่ามีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะดุจกัน เพราะเหตุฉะนั้นแล จึงไม่ควรยึดถือในธรรมและไม่ควรยึดถือในอธรรม นี้คือเหตุผลที่ตถาคตพร่ำสอนอยู่เสมอว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ว่าธรรมะที่เราแสดงมีอุปมาดังผู้อาศัยพ่วงแพ แม้แต่ธรรมก็ยังต้องละเสีย จักกล่าวไปใยกับอธรรมเล่า” *1
(*1 ธรรมของพระพุทธองค์ดุจยานพาหนะมีแพเป็นต้น สำหรับผู้ข้ามพ้นทุกข์อาศัยข้ามวัฏฏสงสารเมื่อบรรลุถึงฝั่งอมตนิพพานที่ปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมไม่แบกหามแพให้เป็นภาระ คงปล่อยทิ้งไว้ที่ชายฝั่งนั่นเอง แต่ในขณะที่ยังไม่บรรลุถึงฝั่งก็จำต้องอาศัยไปพลางๆ ข้อความนี้เปรียบเทียบได้กับพุทธภาษิตในอลคัททูปมสูตรแห่งบาลีมัชฌิมนิกาย-ผู้แปล )


“ สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณฤา ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถอันพระสุคตได้ตรัสไว้ ก็ไม่มีสภาวะใดแน่นอนที่เรียกว่าพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิ และก็ไม่มีสภาวะธรรมแน่นอนอันใดซึ่งพระองค์แสดง ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสทั้งหมดไม่ควรยึดถือ ไม่ควรกล่าว ไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่อธรรมทั้งนี้ด้วยเหตุอันใด ด้วยเหตุว่า พระอริยะบุคคลทั้งหลายอาศัยอสังขตธรรมนี้แล้วจึงมีความแตกต่างกัน *2

( *2 ธรรมทั้งปวงมีความศูนย์เป็นลักษณะ จึงกล่าวไม่ได้ว่าเป็นธรรมหรืออธรรม และจากความศูนย์นี้ เราจึงแบ่งประเภทอริยบุคคลต่างๆ เช่นพระโสดา สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ทั้งนี้เพราะธรรมทั้งปวงไม่มีสภาวะแน่นอนอยู่ได้โดยตัวมันเอง ถ้ามีสภาวะแน่นอนในตัวของมันเองไซร้ พระอริยบุคคลประเภทต่างๆนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้)


พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะอันเต็มเปี่ยมทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุ บุคคลนั้นจักได้เสวยบุญกุศลอันมากมายกระนั้นฤาหนอ”
สุ “ มากมายนั้นแล้วพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุญกุศลนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะอันใดที่เป็นกุศล ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่าได้บุญกุศลมากมาย” *3

(*3 โดยปรมัตถ์บุญกุศลก็เป็นอนัตตาหรือศูนยตา การที่ไม่ยึดถือบุญกุศลนั่นแหละ จึงนับว่าเป็นบุญกุศลโดยแท้ เพราะเป็นบุญกุศลชนิดวิวัฏฏะ-ผู้แปล)

พ “ ถ้ามีบุคคลได้อาศัยปฏิบัติตามพระสูตรนี้ แม้ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท และประกาศสั่งสอนแก่ผู้อื่น บุญกุศลของผู้นั้นจักโอฬารยิ่งกว่าผู้ทำทานด้วยสัปตรัตนะข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดจนพระพุทธอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมทั้งปวงล้วนมีกำเนิดจากพระสูตรนี้ สุภูติเอย สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะพระพุทธธรรมนั้นเลย”

“ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโสดาบันจักสามารถนมสิการว่า เราได้บรรลุโสดาปัตติผลฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เจ้าสู่กระแสเลย การไม่เข้าถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระโสดาบัน”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระสกทาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุสกทาคามีผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระสกทาคามีชื่อว่าเป็นผู้จักเวียนกลับมา(ในกามาวจรภพ) อีกครั้งเดียว แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดเวียนกลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า พระสกทาคามี”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอนาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอนาคามีผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระอนาคามีชื่อว่าเป็นผู้ไม่กลับมาอีก(ในกามาวจรภพ) แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่ไม่กลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อว่าพระอนาคามี”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอรหันต์จักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอรหัตตมรรคผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าอรหันต์ ข้าแต่พระสุคต หากพระอรหันต์จักพึงมนสิการว่า เราบรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ ก็ชื่อว่าได้ยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ ชีวะเข้าแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าในหมู่ผู้บรรลุอารัณยิกสมาธิอันยอดเยี่ยมนั้น ได้แก่ตัวข้าพระองค์ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ข้าพระองค์ไม่มนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ยังมนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ พระสุคตจักไม่ตรัสว่าสุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทาเลย โดยความจริงแล้วสุภูติมิได้ยึดถือในปฏิปทาเลย ฉะนั้นพระองค์จึงตรัสยกย่องว่า สุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทา”

พ.” สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคต(ยังเป็นพระโพธิสัตว์) อยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระตถาคต (ยังเป็นพระโพธิสัตว์)อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้ามิได้ทรงบรรลุ ธรรมใดๆเลย” *4

( * 4 เมื่อครั้งพระศาสดาเรายังเสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งเกิดเป็นดาบสชื่อสุเมธ ได้ทอดองค์ลงต่างสะพานไปในลุ่มเลน พร้อมทั้งสยายเกศาปกคลุมสถานสกปรกนั้น เพื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกเสด็จผ่าน สุเมธดาบสได้ตั้งความปรารถนาพระโพธิญาณในขณะที่พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จเหยียบบนร่างกายของตน และได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตการ-ผู้แปล)

พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโพธิสัตว์บุคคลจักพึงกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรฤาหนอ”

สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงมิได้มีสภาวะการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเท่านั้น”

พ “ เพราะฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ทั้งปวงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์สะอาดโดยประการอย่างนี้ กล่าวคือพึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่ง ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตมิให้บังเกิดมีความยึดถือผูกพันในสภาวะใดๆ”

“ สุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสัณฐานดุจขุนเขาพระสุเมรุ เธอจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน รูปกายแห่งบุคคลนั้นมโหฬารฤาหนอแล”

สุ “มโหฬารนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า รูปกายนั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันมโหฬารเท่านั้น”

พ “ ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งจำนวนเมล็ดทรายในท้องคงคานทีแลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วยเมล็ดทรายเหล่านั้น เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จำนวนแห่งเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งหลาย จักนับได้ว่ามากมายอยู่ฤาหนอ”

สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะคงคานทีเองก็ยังมีปริมาณมากจนมิอาจคำนวนได้ จักป่วยกล่าวไปใยถึงเมล็ดทรายในนทีเหล่านั้น”

พ “ ดูก่อนสุภูติ เรากล่าวกับเธอโดยแท้จริงว่า ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆนำ สัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมดุจเมล็ดทรายในคงคานทีทั่วมหาตรสหัสโลกธาตุมาบริจาคทาน จักได้บุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล”

สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีภาค”
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกันพระสุภูติว่า
พ “ ถ้ากุลบุตร กุลธิดาใดๆหากได้ประพฤติปฏิบัติตามพระสูตรนี้ที่สุดแม้จะปฏิบัติคาถาเพียง 4 บาท หรือประกาศแสดงแก่คนอื่นๆข้อนั้นย่อมจะเป็นบุญกุศลวิเศษยิ่งกว่าบุญกุศลที่กล่าวแล้วนั้นอีก


อนึ่ง สุภูติ ณ สถานที่ใดมีผู้ได้ประกาศแสดงพระสูตรนี้ แม้ที่สุดคาถาเพียง 4 บาท เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ สถานที่ (ประกาศแสดง)นั้น ทวยเทพมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายถึงกระทำสักการบูชาดุจพระพุทธสถูปวิหาร จักป่วยกล่าวไปใยกับบุคคลผู้ปฏิบัติประพฤติตามพระสูตรนี้ทั้งหมด ตลอดจนสามารถเจริญสาธยายได้เล่า สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลดังกล่าวนั้นแลได้ยังความสำเร็จแล้วในธรรมอันเป็นยอดสูงสุดซึ่งหาได้โดยยาก ถ้าพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่ใด ณ สถานที่นั้นย่อมชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดับอยู่ และมีพระอัครสาวกสำนักอยู่”

ก็โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมพุทธเจ้าขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระสูตรนี้มีนามว่ากระไรพระเจ้าข้า และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงรับปฏิบัติอย่างไรพระเจ้าข้า”

พระสัมพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ พระสูตรนี้ชื่อว่า วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร นี้แลเป็นนามอันเธอพึงรับปฏิบัติ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปรัชญาปารมิตานั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งปรัชญาปารมิตาเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ปรัชญาปารมิตาเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”

พระสุภูติกราบทูลสนองพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิได้แสดงพระธรรมเทศนาใดๆเลย”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ปรมาณูในมหาตรีสหัสโลกธาตุ มีปริมาณมากอยู่ฤาหนอแล”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระสุคต”

พ “ สภูติเอย ก็ปรมาณูเหล่านั้น ตถาคตกล่าวว่าโดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะปรมาณูเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าปรมาณู ตถาคตกล่าวว่า โลกธาตุก็ไม่มีสภาวะแห่งโลกธาตุอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อว่าโลกธาตุเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักถึงเห็นตถาคตได้ในมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการฤาหนอ”

สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จักเห็นพระตถาคตเจ้าโดยมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสว่า ลักษณะ 32 ประการนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งลักษณะอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าลักษณะ 32 ประการเท่านั้น”

พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆได้สละร่างกายกอบทั้งชีวิตอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลได้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้แม่ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท ประกาศแสดงอรรถแก่บุคคลอื่น ย่อมมีบุญกุศลมากมายยิ่งกว่า”

ครั้งนั้นแล พระสุภูติได้สดับพระสูตรนี้แล้ว เป็นผู้มีความซาบซึ้งแจ่มชัดในธรรมอรรถนั้น จึงบังเกิดอาการร้องไห้หลั่งน้ำตา (ด้วยความปิติ) แล้วกราบทูลพระสัมพุทธเจ้าว่า

สุ “ หาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีภาค ในการที่พระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรอันสุขุมล้ำลึกเป็นปานฉะนี้ ในอดีตกาลนับแต่ข้าพระองค์ได้บรรลุปัญญาจักษุเป็นต้นมา มิได้เคยสดับพระสูตรดั่งนี้เลย ข้าแต่พระสุคต ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรดังกล่านี้ มีศรัทธาอันบริสุทธิ์ แล้วบังเกิดลักษณะอันแท้งจริง (กล่าวคือปัญญารู้แจ้งในสภาพตามเป็นจริง) ก็พึงสำเหนียกได้ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุสำเร็จซึ่งคุณานิสงส์อันเยี่ยมยอดหาได้โดยยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ลักษณะอันแท้จริงนั้น โดยความจริงไม่มีลักษณะ ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นลักษณะที่แท้จริง ข้าแต่พระผู้มีภาค ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรนี้ ณ บัดนี้ มีความศรัทธาและซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม ย่อมไม่เป็นข้อยากเย็นอะไรเลย ก็แต่ว่าในอนาคตกาลจากนี้ 500 ปี หากมีสรรพสัตว์ใดได้สดับพระสูตรนี้ แล้วแลบังเกิดความศรัทธาซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม บุคคบนั้นนับว่าเป็นบุคคลอย่างเยี่ยมยอดชนิดหาได้โดยยากทีเดียวพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุคคลนั้นจักเป็นผู้ปราศจากความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในปุคคละลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในสัตวะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าอาตมะลักษณะนั้นไม่มีสภาวะลักษณะเลย ด้วยเหตุดังฤา เมื่อละความยึดถือในสรรพลักษณะทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งตรัสรู้เช่นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย”

พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้วแลไม่บังเกิดความกลัว ไม่บังเกิดความครั่นคร้าม ไม่บังเกิดความระย่อ*5 เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หาได้โดยยาก ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า บารมีอันยอดเยี่ยมนั้นโดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งบารมีอันยอดเยี่ยมนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า บารมีอันยอดเยี่ยมเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ ขันติบารมีนั้นตถาคตกล่าวว่าแท้จริงไม่มีสภาวะแห่งขันติบารมีนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ขันติบารมีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเหตุดังฤา สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งเราถูกพระเจ้ากลิราชาตัดหั่นสรีระ *6 ครั้งนั้นเราไม่ถือมั่นในอาตมะลักษณะ ไม่ถือมั่นในปุคคละสักษณะ ไม่ถือมั่นในสัตวะลักษณะ ไม่ถือมั่นในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าสมัยนั้นขณะที่สรีระของเราถูกหั่นฉะเชือดออกเป็นส่วนๆ หากเรามีความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะไซร้ก็จะพึงบังเกิดความโกรธแค้นอาฆาต ดูก่อนสุภูติ อนึ่งเรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้ว 500 ชาติ เมื่อเราเป็นกษานติวาทีดาบส ในชาตินั้นเราปราศจากความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในปุคคลลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในสัตวะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในชีวะลักษณะ ด้วยเหตุฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงเป็นผู้ละความยึดถือในลักษณะทั้งปวง แล้วบังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตให้ปราศจากความยึดถือผูกพันใดๆ และถ้าจิตยังมีความยึดถือผูกพันอยู่ ก็ย่อมชื่อว่าจิตมิได้ตั้งอยู่ในสถานะที่ควร(แก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ กล่าวคือจิตที่ตั้งอยู่ในสถานะที่ความแก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ต้องเป็นจิตชนิดที่ปราศจากความยึดถือผูกพัน) ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระโพธิสัตว์ไม่พึงบริจาคทานด้วยจิตซึ่งยึดถือผูกพันในรูป ดูก่อนสุภูติ พระโพธิสัตว์ผู้ยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ พึงบริจาคทานอย่างนี้แล ตถาคตกล่าวว่าลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งลักษณะ และกล่าวว่าสรรพสัตว์ โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ดุจกัน

( *5 ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้แสดงเรื่อง ศูนยตา อันเป็นปรมัตถ์สุดยอด ผู้ที่ยังมีความหลงไหลอยู่เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ หรือเกิดความกลัวในความว่างเปล่าขึ้น ทั้งนี้โดยสัญชาติญาณแห่งภวตัณหาของสัตว์ทั่วๆไป แม้จนกระทั่งพรหมชั้นสูง พากันคิดในความมีความเป็นเมื่อมาฟังคารมปฏิเสธในพระสูตรนี้ จึงอาจเกิดความกลัวความระย่อ-ผู้แปล)

( *6 ในชาดกกล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษานติวาทีดาบส (บาลี คือขันติวาทีดาบส )ครั้งหนึ่งจาริกมาพักอยู่ในราชอุทยานของพระเจ้ากลาปุหรือ กลิราชาแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่งพระราชาพานางสนมกำนัลประพาสอุทยาน เสวยน้ำจัณฑ์เมาบรรทมหลับไป ครั้นตื่นขึ้นไม่เห็นนางสนมกำนัลเหล่านั้น จึงเสด็จเที่ยวหามาพบนางในเหล่านั้นห้อมล้อมฟังธรรมของดาบสอยู่ พระราชาบังเกิดความหึงหวงดำรัสให้ลงโทษดาบส และถามดาบสถือธรรมอะไร พระโพธิสัตว์ตอบว่าถือขันติ พระราชาก็ยิ่งให้ทำทรมานมากขึ้น จนถึงตัดมือตัดเท้า ทรมานจนพระโพธิสัตว์มรณะภาพแล้วพระราชาจึงเสด็จกลับ ครั้นเสด็จถึงประตูอุทยานก็ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรก – ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ ตถาคตเป็นสัจจวาที ภูตวาที ตถวาที อวิตถวาที อนัญญถวาที สุภูติ ธรรมอันตถาคตบรรลุ มิได้เป็นสิ่งมีอยู่จรงิหรือเป็นสิ่งไร้แก่นสารก็หาไม่ *7 สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีจิตยึดถือผูกพันในธรรมแล้วแลบริจาคทาน อุปมาดั่งบุคคลผู้เข้าสู่สถานที่มือย่อมไม่อาจเห็นสิ่งอะไรได้เลย แต่ถ้าพระโพธิสัตว์มีจิตไม่ยึดถือผูกพันในธรรมแล้วและบริจาคทาน มีอุปมาดั่งบุคคลผู้มีจักษุสว่างและ (เข้าไปในสถาน)ที่ซึ่งมีแสงอาทิตย์สว่าง ย่อมจะเห็นชัดในรูปต่างๆได้

( * 7กล่าวคือจะว่ามีสภาวะโดยตัวมันเองอยู่อย่างจริงแท้ ก็ชื่อว่าตกเป็นฝ่ายอัตถิตาข้างสัสสตทิฎฐิไป จะว่าว่างเปล่าไร้สาระเสียเลยทีเดียวเป็นการปฏิเสธต่อสมมติบัญญตก็ชื่อว่า ตกเป็นฝ่ายนัตถิตา ข้างนัตถิกทิฎฐิ ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่เป็นทั้งอัตถิตาหรือนัตถิตา เพราะพระองค์แสดงโดยปรมัตถนัยและโลกิยนัย ทั้งมิให้ยึดถือทั้งในความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ – ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ ในอนาคตกาลเบื้องหน้า หากมีกุลบุตร กุลธิดาใดๆอาจสามารถรับปฏิบัติตามพระสูตรนี้ หรือเจริญสาธยายก็ดี อาศัยอำนาจแห่งพุทธปัญญาของตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้นจักสำเร็จบรรลุคุณานิสงส์อันจักประมาณมิได้และไม่มีขอบเขต”


สุภูติเอย กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ในยามเช้าจักบริจาคสรีระกายอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี ในยามกลางวันยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี แม้ในยามเย็นก็ยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี เขาจักสละสรีระตลอดกาลนับหลายร้อยพันหมื่นโกฏิกัลป์อันไม่มีประมาณ ออกบริจาคเป็นทานอยู่ตลอดก็ตาม แต่ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้วบังเกิดจิตศรัทธาไม่คัดค้าน บุญกุศลของเขาผู้นั้นยังประเสริฐกว่า จักป่วยกล่าวไปใยกับการที่เขาคัดลอก รับปฏิบัติ เจริญสาธยาย และอธิบายอรรถซึ่งพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เล่า

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 09:15:44 pm โดย puntawut » บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 01:03:48 pm »

อนึ่ง สุภูติ โดยสรุปความสำคัญแล้ว ก็กล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีคุณานิสงส์อันจักพึงคิดคาดคะเนมิได้ หรือจักประมาณก็มิได้ประกอบด้วยคุณานิสงส์อันไม่มีขอบเขต ตถาคตประกาศพระสูตรนี้ เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่อมหายาน และประพระสูตรนี้เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่ออนุตตรยาน ถ้ามีบุคคลผู้สามารถรับปฏิบัติตามก็ดี เจริญสาธยายก็ดี ประกาศแสดงแก่บุคคลอื่นๆก็ดี ตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้น บุคคลนั้นๆทั้งหมดจักบรรลุคุณานิสงส์ซึ่งประมาณมิได้ กล่าวมิได้ ปราศจากขอบเขต และเป็นอจินไตย บุคคลผู้เช่นนี้ชื่อว่าเป็นผู้แบกคอนพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิของพระตถาคต ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ หากบุคคลใดเป็นผู้ยินดีในธรรมอันคับแคบ มีความยึดถือผูกพันเห็ว่ามีอาตมะ เห็นว่ามีปุคคละ เห็นว่ามีสัตวะ และเห็นว่ามีชีวะไซร้ เขาผู้นั้นย่อมไม่สามารถรับฟังและปฏิบัติตามพระสูตรนี้ได้ และไม่สามารถเจริญสาธยายหรือประกาศพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เลย

ดูก่อนสุภูติ ในสถานที่ใดๆ ถ้ามีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่สถานที่นั้นๆย่อมเป็นสถานอันทวยเทพ ตลอดจนมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายจักพึงกระทำสักการบูชา เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ.สถานที่ดังกล่าวนี้แลเป็นพระสถูปเจดีย์ ควรแก่การเคารพพนมไหว้กระทำการประทักษิณ และนำบุปผาชาตินานาพรรณมาเกลี่ยบูชา

อนึ่ง สุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆมารับปฏิบัติหรือเจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ แลแล้วถูกคนเขาดูหมิ่นย่ำยี บุคคลนั้น (คือผู้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้) อันอกุศลกรรมแต่ปางหลังชาติก่อนสมควรแก่การจบลงสู่อบายทุคคติภูมิ แต่เมื่อเขาได้รับการดูหมิ่นย่ำยีจากคนอื่นในภพปัจจุบัน(มาชดเชย) อกุศลกรรมแต่ปางก่อนจึงดับศูนย์ บุคคลนั้นจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ

สุภูติเอย เรามาตามระฤกได้อยู่ซึ่งอดีตนับด้วยอสงไขยกัลป์อันจักประมาณมิได้ เบื้อหน้าแต่ก่อนที่จะได้เฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า เราได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นับจำนวนแปดร้อยสี่พันหมื่นองสไขยนิยุตะองค์ *8 เราได้เฝ้าปฏิบัติบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นโดยมิพลาดโอกาสแม้ สักพระองค์หนึ่งเลย อนึ่ง หากมีบุคคลกาลอนาคตสมัยปลายแห่งพระสัทธรรม อาจสามารถรับปฏิบัติ เจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ คุณานิสงส์ซึ่งเขาพึงได้นั้น เมื่อมาเปรียบเทียบกับคุณานิสงส์ซึ่งเราบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในร้อยส่วนไม่ถึงหนึ่งส่วน (ในคุณานิสงส์ของผู้นั้น) นับด้วยพันหมื่นอสงไขยกัลป์ส่วนที่สุดจนเหลือคณานับซึ่งจะเปรียบเทียบมิได้เลย

( *8 ตอนนี้กล่าวถีงอานุภาพของการปฏิบัติพระสูตรนี้ ทำให้อกุศลกรรมแต่ก่อนซึ่งควรให้ผลในชาติต่อไป กลายเป็นย่นเวลาให้สั้นมาให้ผลในปัจจุบันเพียงแค่ได้รับการดูหมิ่นจากผู้อื่นเท่านั้น – ผู้แปล )

ดูก่อนสุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆในสมัยเบื้องปลายแห่งพระสัทธรรม ได้มาปฏิบัติและเจริญสาธยายพระสูตรนี้ คุณานิสงส์อันเขาได้นั้น ถ้าเราจักพึงอธิบายโดยละเอียดสมบูรณ์ซึ่งคุณานิสงส์นั้นแล้ว หากมีผู้ใดสดับเข้าก็จะพึงบังเกิดความวุ่นวายแห่งจิต มีวิจิกิจฉาไม่เชื่อถือเลย *9 สุภูติ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าธรรมอรรถแห่งพระสูตรนี้เป็นอจินไตย แม้ผลานิสงส์ก็เป็นอจินไตยดุจกันอย่างนี้แล”

( *9 กล่าวคืออานิสงส์ซึ่งกล่าวมาแต่ต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้ากล่าวอธิบายอานิสงส์ทั้งหมดจะเป็นการมโหฬารพันลึก เกรงผู้เข้าไม่ถึงจะไม่เชื่อ – ผู้แปล)


โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า

พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ กุลบุตร กุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แลสรรพสัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วก็จริง แต่โดยความจริงแล้วก็มิได้มีสัตว์ใดๆแม้สักผู้หนึ่งได้ดับขันธนิพพานเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใดฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะ นั่นก็หาใช่พระโพธิสัตว์ไม่

ทั้งนี้ด้วยเหตุเป็นไฉน สุภูติ โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะธรรมที่จะ(เป็นผู้) บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั่นเอง *10

( * 10 คือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็เป็นสภาพว่างเปล่าไร้ตัวตน แล้วจริยะธรรมอันเกิดจากสภาพว่างเปล่านั้นจักเป็นของมีอยู่ได้อย่างไร-ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักแห่งพระทีปังกรพุทธเจ้ามีธรรมอันใดที่เราพึงบรรลุ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา”

สุ “ ไม่มีเลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถของพระสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระองค์อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้า ปราศจากธรรมอันพึงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย”

พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น สุภูติ โดยความจริงแล้ว ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งตถาคตจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย ดูก่อนสุภูติ หากพึงมีธรรมใดซึ่งตถาคตบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าก็จักไม่พยากรณ์แก่เราว่า “ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “ แต่ที่แท้ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ฉะนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์แก่เราว่า“ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็น พระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “ ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่า “ตถาคต” นั้น คือสภาพความเป็นอย่างนั้นแห่งธรรมดาทั้งปวง ถ้ามีผู้กล่าวว่า ตถาคตบรรลุแก่พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ สุภูติ โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะธรรมใดเลย ซึ่งพระพุทธเจ้าจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติเอย โดยความจริงแล้วพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิอันตถาคตบรรลุนั้น ในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ย่อมไม่มีสภาวะความมีอยู่และไม่มีอสภาวะความไม่มีอยู่เลย และด้วยเหตุดังกล่าวนั้นแล ตถาคตจึงกล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรม

อนึ่ง สุภูติ ตามที่เรากล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายเลย เป็นสักแต่เรียกว่าธรรมทั้งหลายเท่านั้น
ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมา”

สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสว่า บุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมาโดยแท้จริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายสูงมหึมา เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ารูปกายสูงมหึมาเท่านั้น”

พ “ ดูก่อนสุภูติ โดยประการเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีวาทะกล่าวว่าเราเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้บรรลุนิพพานธาตุไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าพระโพธิสัตว์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งหลายไม่มีอาตมะ ไม่มีปุคคละ ไม่มีสัตวะ และไม่มีชีวะ

อนึ่ง สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีวาทะกล่าวว่า เราจักกระทำการตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรอย่างนี้ไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ทั้งนี้เพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า การตบแต่งอลังการพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งการตบแต่งอลังการ เป็นสักแต่ชื่อว่าตบแต่งอลังการเท่านั้น สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์สามารถแจ่มแจ้งเข้าถึงความจริงว่าธรรมทั้งหลายว่างเปล่าจาก ตัวตนแลของๆตนอย่างนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่านั่นเป็นพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง”

พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีมังสะจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีมังสะจักษุ ”
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีทิพจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีทิพจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีปัญญาจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีปัญญาจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีธรรมจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีธรรมจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีพุทธจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีพุทธจักษุ “
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อุปมาดั่งเมล็ดทรายในคงคานที ตถาคตกล่าว่านั่นเป็นเมล็ดทรายฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสเรียกว่านั่นเป็นเมล็ดทราย “

พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เปรียบดุจเมล็ดทรายในท้องคงคานที แลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วยเมล็ดทรายเหล่านั้น อนึ่ง มีพุทธเกษตรโลกธาตุอื่นๆอีกเท่าจำนวนเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งปวงอีกเล่า ด้วยประการดั่งนี้พึงนับเป็นจำนวนมากหลายอยู่ฤาหนอแล “

สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค “
บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 01:06:47 pm »

พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
“ สรรพสัตว์ในโลกธาตุทั้งปวงเหล่านั้นมีจิตประพฤติโดยประเภทต่างๆกัน ตถาคตย่อมรู้ชัดแจ่มแจ้งในจิตพฤตติต่างๆนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า สรรพจิตทั้งปวงนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งจิต เป็นสักแต่ชื่อว่าจิตเท่านั้น ด้วยเหตุดังฤา สุภูติ จิตในอดีตปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ จิตในปัจจุบันปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ แม้จิตในอนาคตก็ปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ดุจกัน “ *11

( * 11 ขณะจิตในอดีตกับไปแล้ววอดวายไปแล้วจึงไม่มีอยู่ ขณะจิตในอนาคตเล่าก็ยังไม่เกิดขึ้นไม่มีอยู่อีก ส่วนขณะจิตในปัจจุบันกำลังแปรไปไม่คงที่ อนึ่ง เพราะอาศัยอดีตกับอนาคตจึงมีปัจจุบัน ก็เมื่ออดีตไม่มีสภาวะ อนาคตก็ไม่มีสภาวะ ปัจจุบันจึงหมดความหมายไปด้วย – ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดๆนำเอาสัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมเท่าเมล็ดทรายในคงคานที ทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุมาบริจาคทาน บุคคลนั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ได้รับบุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล “

สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลผู้นั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวย่อมได้รับบุญกุศลมากมายพระเจ้าข้า “

พ “ ดูก่อนสุภูติ หากบุญกุศลจักพึงมีสภาวะอยู่จริงแท้แล้ว ตถาคตก็จักไม่กล่าวว่า เขาได้บุญกุศลมากมาย ทั้งนี้ด้วยเหตุว่าบุญกุศลนั้นปราศจากสภาวะ ตถาคตจึงกล่าวว่าผู้นั้นได้บุญกุศลมากมาย “ * 12

( * 12 กล่าวคือบุญกุศลที่แท้จริงนั้นเป็นศูนยตาซึ่งเป็นฝ่ายวัฏฏคามินี ถ้ายังมีความยึดถืออยู่ก็เป็นบุญกุศลชนิดฝ่ายวัฏฏคามินี - ผู้แปล)

พ “ อนึ่ง สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ฤา “
สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า รูปกายอันสมบูรณ์นั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันสมบูรณ์เท่านั้น

พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ได้อยู่ฤาหนอแล “

สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า สรรพลักษณะอันสมบูรณ์ โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพลักษณะอันสมบูรณ์เท่านั้น “

พ “ สุภูติเอย เธออย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า เราเป็นผู้แสดงธรรมแก่มวลสรรพสัตว์ เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน หากมีบุคคลกล่าวว่า ตถาคตเป็นผู้แสดงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ติเตียนตู่พระพุทธเจ้า เขาผู้นั้นไม่เข้าใจในวจนะของเรา สุภูติ ที่เรียกว่าการแสดงธรรมนั้น โดยความจริงแล้วไม่มีธรรมใดที่แสดงเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าการแสดงธรรมเท่านั้น “

ก็โดยสมัยนั้นแลพระสุภูติเถระผู้มีปัญญาทูลถามพระบรมศาสดาขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจะมีสรรพสัตว์ใดในอนาคตกาล สดับธรรมนี้แล้วบังเกิดศรัทธาจิตขึ้นฤาหนอแล “

พ “ ดูก่อนสุภูติ เขา(ผู้สดับธรรมแห่งพระสูตรนี้) มิใช่สรรพสัตว์ แต่จักว่ามิใช่สรรพสัตว์เลยก็มิได้ *13 ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ดูก่อนสุภูติ ที่ว่าสรรพสัตว์ สรรพสัตว์นั้น ตถาคตกล่าวว่าปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพสัตว์เท่านั้น

( * 13 อรรกถากล่าวว่า ผู้ที่สดับพระสูตรนี้บังเกิดศรัทธาจิตขึ้น นับว่าเป็นสัตว์ประเภทพิเศษไม่เหมือนสรรพสัตว์ทั่วไป แต่ผู้นั้นก็ยังมีกิเลสไม่บรรลุโพธิญาณ จึงสงเคราะห์อยู่ในสรรพสัตว์ ข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกันข้ามกับอรรกถา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าตอนนี้แสดงว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีสัตว์ แต่โดยบัญญัติสมมติแล้วก็ยังชื่อว่าสัตว์ – ผู้แปล)

พระสุภูติกราบทูลกับพระบรมศาสดาว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระสัมพุทธเจ้าบรรลุตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณนั้น นับว่าเป็นการมิได้บรรลุเลยฤาหนอพระเจ้าข้า”

พ “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ เมื่อเราบรรลุตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ไม่มีธรรมแม้สักส่วนเล็กน้อยส่วนหนึ่งเลยที่เราบรรลุได้ถึง เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ “

อนึ่ง สุภูติ ธรรมทั้งหลายมีความเสมอภาคเท่ากัน ไม่มีสูงหรือต่ำ นั่นแลชื่อว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ เมื่อไม่มีความยึดถือในอาตมะ ไม่ยึดถือในปุคคละ ไม่ยึดถือในสัตวะ ไม่ยึดถือในชีวะ แล้วบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหมด ก็จักชื่อว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติ ที่กล่าวว่ากุศลธรรมนั้น ตถาคตกล่าวว่า โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งกุศลธรรมเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากุศลธรรมเท่านั้นแล

อนึ่ง สุภูติ ถ้ามีบุคคลผู้นำเอากองแห่งสัปตรัตนะเท่าขุนเขาพระสุเมรุทั้งหลายใน มหาตรีสหัสสโลกธาตุมาบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลมารับปฏิบัติเล่าเรียนสาธยาย ประกาศชี้แจงแก่ผู้อื่นซึ่งธรรมในปรัชญาปารมิตาสูตรนี้ ที่สุดแม้เพียงคาถา 4 บาท เท่านั้น คุณานิสงส์ของบุคคลแรกในร้อยส่วนเปรียบด้วยมิได้สักหนึ่งส่วน แม้นับด้วยร้อยหมื่นอสงไขยส่วนที่สุดจนเหลือประมาณคณานับ ก็เอามาเปรียบเทียบด้วย(กับคุณานิสงส์ของบุคคลหลัง) ไม่เท่าเทียมถึงได้เลย


ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เธออย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า เราเป็นผู้โปรดสัตว์ สุภูติ เธอย่าเข้าใจอย่างนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสรรพสัตว์ใดเลยอันตถาคตจักโปรด ถ้าแลมีสรรพสัตว์อันตถาคตจักพึงโปรดไซร้ ตถาคตก็มีความยึดถือผูกพันในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ ชีวะ

สุภูติเอย การที่ตถาคตกล่าวว่า “ตัวเรา ตัวเรา” นั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีตัวเราอยู่เลย ก็แต่ปุถุชนย่อมยึดถือว่ามีตัวเราอยู่ สุภูติ แม้ปุถุชนก็เถอะตถาคตยังกล่าวว่า โดยความจริงแล้ว ปราศจากสภาวะแห่งปุถุชน เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าปุถุชนเท่านั้น

ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักพึงเห็นตถาคตได้ในมหาปุริสลักษณะ 32 ประการฤา “

สุ “ อย่างนั้น อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พึงเห็นพระผู้มีพระภาคได้โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ”

พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้าเห็นตถาคตได้โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการไซร้ พระจักรพรรดิราชก็ชื่อว่า ตถาคตซิหนอ”

พระสุภูติกราบทูลสนองพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระสุคต ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถซึ่งพระสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นการไม่สมควรที่จะเห็นพระตถาคต โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการเลย”
ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้กล่าวนิคมคาถาว่า

“ ผู้ใดจักเห็นเราในรูป ฤาจักหาเราในเสียง ผู้นั้นย่อมชื่อว่าดำเนินทางที่ผิด ย่อมไม่สามารถเห็นตถาคตได้”

อนึ่ง สุภูติ หากเธอพึงมนสิการว่าเพราะเหตุตถาคตมิได้มีสรรพรูปลักษณะอันสมบูรณ์ (คือมหาปุริสลักษณะ 32 ประการและอสีตยานุพยัญชนะ 80 )แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติเอย เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลยว่า เพราะเหตุตถาคตมิได้มีสรรพรูปลักษณะอันสมบูรณ์ แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติ หาเธอมีมนสิการอย่างนี้ไซร้ บุคคลผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ก็จักกล่าวได้ว่าธรรมทั้งปวงขาดศูนย์ เธออย่าได้มนสิการอย่างนั้นเลย ทั้งนี้เพราะเหตุใดฤา โดย:-)ามจริงแล้ว บุคคลผุ้บังเกิดจิตมุ่ต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิจักไม่มีวาทะกล่าวว่าธรรมทั้งปวงขาดศูนย์ได้ *14

( * 14 กล่าวคือยอมรับว่ามีสมมติบัญญัติตามโลกโวหาร ไม่ถือรั้นแต่ประมัตถ์อย่างเดียว เพราะการถือรั้นอย่างนั้นเป็นลักษณะของฝ่ายอุจเฉททิฏฐิไป – ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ ถ้ามีพระโพธิสัตว์นำเอาสัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมเท่าจำนวนเมล็ดทราย ในคงคานทีทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุออกบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลมารู้แจ้งว่าธรรมทั้งปวงปราศจากตัวตน เขาผู้นั้นได้สำเร็จแก่ปัญญาความตรัสรู้ *15 พระโพธิสัตว์องค์หลังนี้ได้คุณานิสงส์ประเสริฐยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์องค์แรก ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ดูก่อนสุภูติ เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ยึดถือในสรรพบุญกุศลนั่นเอง”

( *15 แปลตามตัวอักษรจีนว่า สำเร็จความอดทน โดยอรรถหมายถึงดวงปัญญา – ผู้แปล)

พระสุภูติกราบทูลกันพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไฉนเล่าพระโพธิสัตว์จึงไม่ยึดถือในบุญกุศลหนอพระเจ้าข้า”
พ “ ดูก่อนสุภูติ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญกุศลแล้ว ไม่พึงบังเกิดความโลภยึดถือเอา เพราะเหตุฉะนั้นแลจึงกล่าวได้ว่าไม่ยึดถือในบุญกุศล

อนึ่ง สุภูติ หากมีผู้กล่าวว่า ตถาคตเสด็จมาอยู่ ตถาคตดำเนินอยู่ ตถาคตประทับอยู่ ฤาตถาคตบรรทมอยู่อย่างนี้ไซร้ บุคคลผู้กล่าวนั้นมิได้เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันเราแสดงไว้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา โดยความจริงแล้วพระตถาคตปราศจากที่มาและปราศจากที่ไป เหตุนั้นจึงชื่อว่าตถาคต


ดูก่อนสุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆถ้าพิจารณากระจายมหาตรีสหัสสโลกธาตุให้เป็นผุยผงละเอียด เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน กองแห่งปรมาณูเหล่านั้นมีจำนวนมากมายอยู่ฤาหนอแล “

สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะถ้ากองแห่งปรมาณูเหล่านี้จักพึงมีสภาวะอยู่จริงไซร้ พระสัมพุทธเจ้าก็จักไม่ตรัสว่ากองแห่งปรมาณูนั้น ทั้งนี้เพราะเหตุใดเล่า พระสัมพุทธเจ้าตรัสว่ากองแห่งปรมาณู โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งกองปรมาณุเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากองปรมาณูเท่านั้น

ข้าแต่พระสุคต มหาตรีสหัสสโลกธาตุซึ่งพระสัมพุทธเจ้าตรัสนั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งโลกธาตุ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าโลกธาตุเท่านั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไฉน ถ้าโลกธาตุพึงมีสภาวะอยู่จริงไซร้ ก็ชื่อว่าเป็นเอกฆนลักษณะ พระตถาคตตรัสว่าเอกฆนลักษณะ โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งเอกฆนลักษณะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าเอกฆนลักษณะเท่านั้น” *16

( *16 อักษรจีนเขียนคำที่ให้ความหมายว่า รวมธรรมลักษณะหลายๆธรรมเข้าไว้ เช่น ในร่างกายของคนก็รวมประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ผู้ที่จะเห็นแจ้งในสรรพธรรมว่าเป็นอนัตตาต้องทำลายฆนสัญญาดังกล่าวนี้ – ผู้แปล)

พ “ ดูก่อนสุภูติ เอกฆนลักษณะนั้นไม่มีสภาวะโดยตัวของมันเองอยู่เลย ก็แต่ปุถุชนยึดถือว่ามีสภาวะโดยตัวของมันเองอยู่อย่างจริงแท้”

อนึ่งสุภูติ ถ้ามีบุคคลมากล่าวว่า พระสัมพุทธเจ้าตรัสว่ามีอาตมะทัศนะ มีปุคคละทัศนะ มีสัตวะทัศนะ มีชีวะทัศนะ ดั่งนี้ไซร้ สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน บุคคลนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันเราแสดงไว้ฤา”

สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลนั้นไม่เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันพระตถาคตเจ้าแสดงไว้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็พระสุคตตรัสแล้วว่า อาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะ โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งอาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า อาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะเท่านั้น”

พ “ดูก่อนสุภูติ บุคคลผู้มีจิตปรารถนาต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิพึงมีความกำหนดรู้อย่างนี้ พึงมีทัศนะอย่างนี้ พึงมีศรัทธาและความเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลายไม่บังเกิดธรรมลักษณะขึ้น *17 สุภูติ ที่กล่าวว่าธรรมลักษณะนั้น ตถาคตกล่าวว่า โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งธรรมลักษณะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าธรรมลักษณะเท่านั้น”

( *17 ความหมายตามอักษรจีนแปลว่า ธรรมลักษณะ แต่ในที่นี้โดยอรรถหมายถึงความไม่ยึดถือ สภาวะที่มีอยู่โดยตัวมันเอง – ผู้แปล)

อนึ่งสุภูติ หากมีบุคคลน้ำเอาสัปตรัตนะมีปริมาณเต็มทั่วอสงไขยโลกธาตุอันไม่มีประมาณมาบริจาคทาน แต่ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆตั้งจิตปรารถนาต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ มาปฏิบัติตามซึ่งพระสูตรนี้แม้ที่สุดคาถาเพียง 4 บาท เขารับปฏิบัติฤาเล่าเรียนสาธยายก็ดี ฤาประกาศแก่ผู้อื่นก็ดี ย่อมมีบุญกุศลวิเศษยิ่งกว่าผู้บริจาคทานนั้นเสียอีก ก็การประกาศแก่ผู้อื่นนั้นเป็นไฉน คือความไม่ยึดถือผูกพันในลักษณะ ตั้งมั่นอยู่ในตถาตาภาพธรรมดาโดยไม่หวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา เพราะว่าสังขตธรรมทั้งปวง มีอุปมาดั่งความฝัน ดั่งภาพมายา ดั่งฟองน้ำ ดั่งเงา ดั่งน้ำค้าง และดั่งสายฟ้าแลบ พึงเพ่งพิจารณาโดยอาการอย่างนี้ “

เมื่อพระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้อวสานลง พระสุภูติผู้มีอายุพร้อมด้วยเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนปวงเทพ มนุษย์ อสูร ในโลกทั้งหลายได้สดับซึ่งพระพุทธพจน์แล้วก็พากันอนุโมทนาชื่นชมยินดี มีความศรัทธาน้อมรับไปปฏิบัติด้วยประการฉะนี้แล.
บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 01:20:37 pm »

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
( พระสูตรว่าด้วยปัญญาอันเป็นหัวใจพาไปถึงฝั่งพระนิพพาน )

Heart of the prajnaparamita ( The Heart of Perfect Understanding )

The Bodhisattva Avalokita,
while moving in the deep course of perfect understanding,
shed light on the Five Skandhas and found them equally empty.
After this penetration, he overcame ill-being.

Listen Shariputra,
form is emptyness, emptyness is form.
Form is not other than emptyness, emptyness is not other than form.
The same is true with feelings, perceptions, mental formations,
and consciousness.

Listen Shariputra,
all dharmas are marked with emptyness.
They are neither produced nor destroyed,
neither defiled nor immaculate,
neither increasing or decreasing.
Therefore in emptyness there is neither form, nor feelings,
nor perceptions, nor mental formations, nor consciousness.
No eye, or ear, or nose, or tongue, or body, or mind.
No form, no sound, no smell, no taste, no touch,
no object of mind.
No realms of elements ( from eyes to mind consciousness ),
no interddependent origins and no extinction of them
( from ignorance to death and decay ).
No ill-being, no cause of ill-being, no end of ill- being,
and no path.
No understanding, no attainment.

Because there is no attainment,
the bodhisattvas, grounded in perfect understanding,
find no obstacles for their minds.
Having no obstacles, they overcome fear, liberateing themselves
forever from illusion and realizing perfect nirvana.
All Buddha in the past, present, and future,
thanks to this perfect understanding,
arrive at full, right, and universal enlightenment.

Therefore one should know
that perfect understanding is the highest montra,
the unequalled montra, the destroy of ill-being,
the incortible truth.
A montra of prajnaparamita should therefore be proclaimed:

Gate gate paragate parasamgate bodhisvaha
Gate gate paragate parasamgate bodhisvaha
Gate gate paragate parasamgate bodhisvaha

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

bhagavate prajnaparamita hridaya sutra
ภะคะวะเต ปรัชญาปารมิตา หะฤทะยะ สูตระ
หัวใจแห่งปัญญาบารมี
aryavalokitesvaro bodhisattvo
อริยาวโลกิเตศะวาโร โพธิสัตตะโว
gambhiram prajnaparamita caryam caramano vyavalokayati
คัมภีรัง ปรัชญาปารมิตา จารยัง จาระมะโน วยาวะโลกะยาติ
sma panca skandhas tams ca sva bhava sunyam
สมา ปัญจะ สกันธัส ตัมส จะ สวะ ภวะ ศุนยัง
pasyati sma iha sariputra
ปัศยาติ สมา อิหา ศารีปุตระ
rupam sunyata va rupam rupan na prithak
รูปัง ศูนยตา วะ รูปัง รูปัญ นะ ปฤถัก
sunyata sunyataya na prithag rupam
ศุนยตา ศุนยตายะ นะ ปฤทัก รูปัง
yad rupam sa sunyata ya sunyata sa rupam
ยัท รูปัง สะ ศุนยตา ยะ ศูนยตายะ สะ รูปัง
evam eva vedana samjna samskara vijnanam
เอวัม เอวะ เวทนท สังชญา (สัญญา) สังสการา (สังขาร) วิชญานัม (วิญญาณ)
iha sariputra sarva dharma sunyata
อิหา ศารีปุตระ สารวะ ธารมะ ศุนยตา
laksana anutpanna aniruddha avimala anuna aparpurna
ลักษณะ อนุตปัณณะ อนิรุทธะ อวิมาละ อนูนะ อปาฤปูฤณะ
tasmas sariputra sunyatayam
ตัสมา ศารีปุตร ศุนยตายัง
นะ รูปัง นะ เวทานา นะ สังชญา นะ สังสการะ นะ วิชญาณะ
na rupam na vedana na samjna na samskara na vijnana
นะ รูปัง นะ เวทานา นะ สังชญา นะ สังสการะ นะ วิชญาณะ
na caksuh srotam na ghrana jihva kaya manah
นะ จักษุ โสรตัม นะ ฆรานะ ชิวะ กายะ มะนะ
na rupa sabda gandha rasa spistavya dharmah
นะ รูปะ ศัพทะ คันธะ ระสะ ศปิสตาวยา ธารมา
na caksur dhatur ya van na mano vijnanam dhatur
นะ จักษู ธาตุ ยะ วัน นะ มะโน วิชญาณัม ธาตุ
na vidya na vidya ksayo
นะ วิทยา นะ วิทยา กศโย
ya van jaramaranam na jaramarana ksayo
ยะ วัน ชรามรณัม นะ ชรามรณัม กศโย
na duhkha samudaya nirodha margajna
นะ ทุกขะ สมุทย นิโรธะ มฤคาชณ
na jnanam na prapti na bhismaya tasma na prapti
นะ ชญานัม นะ ปราปติ นะ ภิศมายะ ตัสมา นะ ปราปติ
tvad bodhisattva prajnaparamita asritya
ตวัท โพธิสัตตวะ ปรัชญาปารมิตา อศฤตยา
viha ratya citta varano
วิหาระ ตยา จิตตา วรโน
na siddhitvad atrasto vipa ryasa ti kranto
นะ สิทธิตวัท อตรัสโต วิปา ฤยส ติ กรานโต
ni stha nirvana tya dha vyava sthitah
นิ สถา นิรวานะ ตยา ธยา วยาว สถิตา
sarva buddhah prajnaparamitam asritya
สาระ พุทธา ปรัชญาปารมิตัม อศฤตยา
anuttaram samyaksambodhim abdhisambuddhah
อนุตตรัง สัมยักสัมโพธิง อภิสัมพุทธา
ta smai jnata vyam
ตา สมา ชญตา วยัม
prajnaparamitamahamantram mahavidyamantram
ปรัชญาปารมิตา มหามันตรัม มหาวิทยามันตรัม
anuttaramantram asamasama mantram
อนุตตรมันตรัม อสมสมา มันตรัม
sarva duhkha prasamanam sa tyam ami thyatvat
สารวะ ทุกขา ปรสามานัม สัตยัง อมิตยัทวัท
prajnaparamitayam ukto mantrah tadyatha
ปรัชญาปารมิตายัม อุทโท มันตรา ตัทยาถา
GATE GATE PARAGATE PARASAMGATE BODHI SVAHA
คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหา




แปลไทย

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ประกอบด้วยโลกุตรปัญญาอันลึกซึ้ง ได้มองเห็นว่า โดยธรรมชาติแท้แล้ว ขันธ์ทั้งห้านั้นว่างเปล่า
และด้วยเหตุที่เห็นเช่นนั้น จึงได้ก้าวล่วง พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ สารีบุตร รูปไม่ต่างจากความว่าง ความว่าง ก็ไม่ต่างไปจากรูป
รูปคือความว่างนั่นเอง และความว่างก็คือรูปนั่นเอง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นดังนี้ด้วย สารีบุตร ธรรมทั้งหลาย
มีธรรมชาติแห่งความว่าง ไม่ได้เกิดขึ้นและไม่ได้ดับลง ไม่ได้สะอาดและไม่ได้สกปรก ไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง
ดังนั้น ในความว่างจึงไม่มีรูป ไม่มีเวทนา หรือสัญญา ไม่มีสังขาร หรือวิญญาณ ไม่มีตาหรือหู ไม่มีจมูกหรือลิ้น
ไม่กายหรือจิต ไม่มีรูปหรือเสียง ไม่มีกลิ่นหรือรส ไม่มีโผฏฐัพพะหรือธรรมารมณ์ ไม่มีโลกแห่งผัสสะ หรือวิญญาณ
ไม่มีอวิชชา และไม่มีความดับลงแห่งอวิชชา ไม่มีความแก่และความตาย และไม่มีความดับลงซึ่งความแก่ และความตาย ไม่มีความทุกข์
และไม่มีต้นเหตุแห่งความทุกข์ ไม่มีความดับลงแห่งความทุกข์ และไม่มีมรรคทางให้ถึง ซึ่งความดับลงแห่งความทุกข์
ไม่มีการประจักษ์แจ้งและไม่มีการลุถึง เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องลุถึง พระโพธิสัตว์ผู้วางใจในโลกุตรปัญญา จะมีจิตที่เป็นอิสระจากอุปสรรคสิ่งกีดกั้น
เพราะจิตของพระองค์เป็นอิสระจาก อุปสรรคสิ่งกีดกั้น พระองค์จึงไม่มีความกลัวใดๆ ก้าวล่วงพ้นไปจากมายาหรือสิ่งลวงตา
ลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด พระพุทธในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผู้ทรงวางใจในโลกุตรปัญญา ได้ประจักษ์แจ้งแล้วซึ่งภาวะอันตื่นขึ้น
อันเป็นภาวะที่สมบูรณ์และไม่มีใดอื่นยิ่ง ดังนั้น จงรู้ได้เถิดว่า โลกุตรปัญญา เป็นมหามนต์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นมนต์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่
เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นยิ่งกว่า เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นใดมาเทียบได้ซึ่งจะตัดเสียซึ่งความทุกข์ทั้งปวง นี่เป็นสัจจะ
เป็นอิสระจากความเท็จทั้งมวล ดังนั้น จงท่องมนต์แห่งโลกุตรปัญญา คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหา
ไป ไป ไปยังฟากฝั่งโน้น ไปให้พ้นอย่างสิ้นเชิง ลุถึง การรู้แจ้ง ความเบิกบาน
บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 01:29:56 pm »

ขอเชิญแผ่เมตตาเพื่อความสันติของโลก

http://www.4shared.com/audio/EhDzdqB8/09_Dharmagita_Metta__Eng_.html
บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2011, 03:51:11 pm »

梵唱大悲咒 มหากรุณาธารณีสูตร ธิเบต
บันทึกการเข้า
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2011, 09:58:19 pm »

White Tara Mantra



The mantra for White Tara is

OM. TARE TUTARE TURE. MAMA AYUR PUNYE JNANA PUSHTIM KURU, SWAHA

Ohm, Tahray Tootahray tooray, mahmah ahyoor poonyay jnyana pushtim kuru[-ye], Swahhah

Tibetans say: OM TARE TUTTARE TURE, MAMA AYUR JANA PUNTIN KURU SOHA

Namo Amitabha!
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2011, 10:04:04 pm โดย puntawut » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.9 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!