บอร์ดสนทนา สสจ.ลพบุรี
เมษายน 23, 2024, 07:15:16 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จะ POST กระทู้...กรุณาสมัครสมาชิกก่อนครับเพื่อป้องกัน Spam ครับ
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความประมาท....กับกฏหมาย  (อ่าน 12714 ครั้ง)
puntawut
สมาชิกซีเนียร์
***
กระทู้: 137


ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 22, 2010, 09:47:32 am »

พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ว่า  “ความไม่ประมาท เป็นหนทางไม่ตาย ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย  ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตาย” ดังนั้น ความประมาทจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ เราควรจะมีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้เพื่อประพฤติและปฏิบัติให้ถูกต้อง  “กระทำโดยประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา นั้นหมายถึง การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

ความรับผิดในทางอาญา

              ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความผิดโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

เอามาฝากครับ....  ขยิบตา

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2502 เมื่อจำเลยรู้อยู่ว่าผู้ตายกำลังโหนตัวอยู่ข้างนอกรถด้านขวาและกำลังมีรถสวนมาด้วยความเร็ว จำเลยก็มิได้ชลอลดความเร็วลงหรือหยุดรถ เพียงแต่หักรถหลบไปในระยะกระชั้นชิด ผู้ตายจึงถูกรถที่สวนมาเฉี่ยวถึงแก่ความตาย ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เช่นนี้ เป็นการกระทำโดยประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2502 ระหว่างเดินทางกลับจากการล่าสัตว์ จำเลยถือปืนแก๊ปยาวบรรจุกระสุนปืนไว้พร้อมที่จะยิงได้แล้วเดินตามหลังผู้ตายห่างราว 5 เมตร โดยเดินในป่าซึ่งมีเถาวัลย์อยู่ตามเส้นทางที่เดิน และหันปากกระบอกปืนไปทางผู้ตายในท่าคอนปืนเอาปากกระบอกไปข้างหน้า ปืนดังกล่าวเพียงแต่ใช้ยางในรถปิดรูนมหนูกับนกปืนมิให้กระทบกับแก๊ปที่สวมติดอยู่กับรูนมหนูเท่านั้น โดยไม่ระมัดระวังมิให้นกปืนเกี่ยวกับเถาวัลย์ อันจะเป็นเหตุให้ปืนลั่นปะทุขึ้นได้ ปรากฏว่านกปืนไปเกี่ยวกับเถาวัลย์ทำให้ปืนลั่น กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณก้านคอด้านหลังถึงแก่ความตาย  จำเลยมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2547 จำเลยขับรถยนต์ในขณะเมาสุราและขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรด้วยความเร็วสูงโดยประมาทล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางเข้าไปในช่องทางรถสวน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยายยนต์ที่ผู้ตายขับขี่และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2546 จำเลยมีเจตนาใช้อาวุธปืนแก๊ปยางยิงค้างคาวโดยไม่พิจารณาให้ดีว่าบริเวณที่ยิงไปนั้นจะมีผู้เสียหายอยู่หรือไม่ เมื่อกระสุนปืนที่ยิงไปนั้นไม่ถูกค้างคาวแต่กลับไปถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน กรณีเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2547 จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แข่งกันด้วยความเร็ว ทำให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของ ว. ที่กำลังขับขึ้นมาจากทางแยกอย่างแรง รถจักรยานยนต์ของ ว. เสียหลักล้มลง ว. กระเด็นตกลงจากรถล้มลงและถูกรถที่จำเลยที่ 2 ขับแข่งกันขึ้นมาในระยะกระชั้นชิด พุ่งเข้าชนขณะล้มลงอยู่บนท้องถนน รถทั้งสามคันได้รับความเสียหาย ว. ถึงแก่ความตาย ส่วน ป. ที่ซ้อนรถของจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และมาตรา 390

ความรับผิดในทางแพ่ง

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4285/2534 โจทก์จอดรถยนต์ไว้ข้างทางในเวลากลางคืนโดยไม่ให้สัญญาณไฟ โดยล้อขวาล้ำเข้าไปบนผิวจราจรประมาณ 1 ฟุต เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎจราจร  และการที่จำเลยเห็นรถยนต์ของโจทก์จอดอยู่ข้างหน้าห่างประมาณ 20 เมตร จำเลยย่อมมีโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหาย โดยใช้ห้ามล้อชะลอความเร็วเพื่อหยุดรถหรือหักหลบมิให้ชนรถยนต์ของโจทก์ได้ แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วสูงชนรถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้ตกลงไปในคูน้ำข้างทางทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทมากกว่าโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจำเลยจึงเป็นฝ่ายก่อมากกว่าโจทก์ แต่เนื่องจากรถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์เก๋งได้รับความเสียหายมากกว่ารถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุก อีกทั้งตัวจำเลยก็ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากรถยนต์ชนกันครั้งนี้ด้วย  พฤติการณ์แห่งคดีสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหม    ทดแทนแก่โจทก์เพียงสองในสามของจำนวนที่โจทก์พิสูจน์ได้ตามคำพิพากษาของศาลล่าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5491/2545 ป. จอดรถบนไหล่ทางตรงที่เกิดเหตุล้ำไหล่ทางขึ้นไปบนถนนถึง 80 เซนติเมตรทั้งที่ถนนกว้างเพียง 7 เมตรและแบ่งเส้นทางเดินรถเป็นสองช่องเดินรถไปกลับ ทางเดินรถแต่ละช่องจึงกว้างเพียง 3.5 เมตร ป.ยังจอดล้ำขึ้นไปบนถนนมากขนาดนั้น อีกทั้งเป็นเวลากลางคืนแรม 8 ค่ำ ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีไฟฟ้าบนไหล่ทาง ไม่มีบ้านเรือนผู้คนอยู่ใกล้เคียง  ป. ไม่สมควรจอดรถบริเวณนั้นควรจะหาสถานที่ที่เหมาะสมกว่า แต่เมื่อจอดรถนอนตรงนั้นแทนที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รถอื่นที่ใช้ถนนมองเห็น เช่น เปิดโคมไฟ จุดตะเกียง หรือก่อกองไฟไว้ท้ายรถ แต่ก็ไม่ได้กระทำ กลับดับเครื่องยนต์แล้วเข้าไปนอนอยู่ในรถ การกระทำเช่นนี้ของ ป. เป็นความประมาทอย่างร้ายแรง

ความผิดในทางวินัย

           พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญ  ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ” วรรคสองบัญญัติว่า “การประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ  อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง”

กรณีตัวอย่างการกระทำผิดวินัย

1. เภสัชกร 3 จ่ายยาผิดให้แก่ผู้ป่วยที่มารับบริการ  เมื่อญาติทราบว่ารับประทานยาผิด  ก็รีบนำส่งโรงพยาบาล  แพทย์ให้นอนดูอาการที่โรงพยาบาลหนึ่งคืน  รุ่งเช้าญาติพาผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา  84  วรรคหนึ่ง  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535   ลงโทษภาคทัณฑ์

2. พยาบาลวิชาชีพ 5 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเวรดึก  ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน  มีผู้ป่วยเป็นเด็กหญิงอายุ  11  ปี   มาขอรับการรักษาพยาบาล  เนื่องจากถูกงูกัดบริเวณนิ้วหัวแม่มือ   โดยใช้ผ้ารัดข้อมือและนำซากงูมาด้วย   ก็ได้ทำความสะอาดแผล  และใช้แอมโมเนียปิดแผลไว้  หลังจากสังเกตอาการผู้ป่วยประมาณ  45  นาที  แล้วไม่พบอาการผิดปกติ  จึงจัดยาแก้ปวดและให้กลับบ้านได้  พร้อมทั้งแนะนำว่าถ้ามีอาการผิดปกติให้กลับมาโรงพยาบาล  โดยไม่ทราบว่างูดังกล่าวเป็นงูพิษ  และไม่รายงานให้แพทย์เวรทราบ  เมื่อผู้ป่วยกลับไปบ้านแล้ว  มีอาการปวดท้อง  อาเจียน  ตาพร่ามัว   บิดาจึงนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง  จึงได้ตามแพทย์เวรมาดูอาการ  และพบว่างูที่กัดเป็นงูทับสมิงคลา  ซึ่งเป็นงูที่มีพิษร้ายแรง พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา   84  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  ลงโทษภาคทัณฑ์

3. เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 เมื่อมีผู้ป่วย  2  ราย  ซึ่งขอเลือดจากธนาคารเลือดเข้ามาพร้อมกันได้รีบ  ทำการตรวจกรุ๊ปเลือดผู้ป่วย  2  รายพร้อมกัน  โดยขาดความระมัดระวังเป็นเหตุให้ตรวจเลือดผู้ป่วยสลับกัน  ทำให้แพทย์ให้เลือด  ผู้ป่วยผิดกรุ๊ป  แต่แพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยได้ทัน  และย้ายผู้ป่วยไปห้อง ไอ.ซี.ยู.  ต่อมาผู้ป่วยอยู่ในขั้นปลอดภัย  พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  ลงโทษลดขั้นเงินเดือน จำนวน 1  ขั้น

4. เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 7 ขาดความระมัดระวังในการควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี  4 ผู้ใต้บังคับบัญชา  ทำการปลอมแปลงเอกสาร  เพื่อใช้เป็นหลักฐานใบสำคัญคู่จ่าย  ปลอมลายมือชื่อผู้เบิกจ่ายเงินและเบิกเงินไปจำนวน  229,536  บาท   นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวแต่ผู้นี้ได้ยอมรับเป็นความผิดของตนต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง  และได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชดใช้คืนแก่ทางราชการแล้ว พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  ลงโทษภาคทัณฑ์5. พยาบาลวิชาชีพ 5 ได้ทำแผลผู้ป่วยผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ  ซึ่งได้ติดท่อระบายน้ำเลือดน้ำหนองตามแพทย์สั่ง  แต่ไม่ได้ใช้เข็มกลัดหรือที่สำหรับยึดติดท่อระบายดังกล่าวเพื่อไม่ให้หลุดเข้าไปข้างในแผลตามมาตรฐานของการปฏิบัติงาน  ทำให้ท่อระบายในแผลหลังผ่าตัดผลุบเข้าไปข้างในแผลและแพทย์ต้องให้ผู้ป่วยดมยาสลบอีกครั้งเพื่อทำการผ่าตัดเอาท่อระบายออกมา  พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา   84  วรรคหนึ่ง  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535 ลงโทษภาคทัณฑ์

6.  พยาบาลวิชาชีพ  5 เป็นหัวหน้าเวรตึกผู้ป่วยหญิง มีญาติผู้ป่วยมาแจ้งว่าผู้ป่วยเข้าห้องน้ำและสายน้ำเกลือหลุด  ขณะเดียวกันคนงานประจำตึกได้มาแจ้งว่าผู้ป่วยสายน้ำเกลือหลุดอยู่หน้าห้องน้ำ   จึงสั่งให้คนงานประจำตึกเอาสำลีแห้งไปกดบาดแผลบริเวณที่แทงน้ำเกลือให้ผู้ป่วยก่อน  เพราะเจ้าหน้าที่ผู้นี้อยู่ระหว่างสอบประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย  1  ราย   และมีผู้ป่วยใหม่เข้านอนรักษาในตึกเพิ่มอีก 1  คน  ซึ่งต้องให้น้ำเกลือและเจาะเลือด   จนเวลาล่วงเลยไปประมาณ  15  นาที  จึงได้ไปดูแล   เป็นการขาดความระมัดระวังและไม่รอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่กรณีที่มีผู้ป่วยหนักพร้อมๆ  กันหลายราย  ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535 ลงโทษภาคทัณฑ์

7. เจ้าหน้าที่บริหารงานการคลัง 8 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาธนบัตรตัวอย่างของธนาคารแห่งประเทศไทย  ซึ่งส่งมอบให้สำนักงานคลังจังหวัดเก็บรักษาไว้เป็นเหตุให้ธนบัตรดังกล่าวสูญหายไป  5  ฉบับ   และไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามระเบียบของทางราชการ   ทั้งปกปิดข้อเท็จจริงไว้ไม่ให้ผู้ใดทราบ  และนำธนบัตรตัวอย่างฉบับปลอมมาเคลือบพลาสติกแข็งและใส่กรอบไว้แน่นหนาอีกชั้นหนึ่ง   เพื่ออำพรางมิให้ผู้อื่นมาตรวจสอบได้ พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยตามมาตรา  84  วรรคสอง   แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ลงโทษปลดออกจากราชการ

 
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 22, 2010, 09:51:11 am โดย puntawut » บันทึกการเข้า
KHONNOUNG
น้องใหม่ซิงๆ
*
กระทู้: 32


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 20, 2011, 09:11:59 pm »

 ฮืม  อะไรก็สู้เจตนาดีไม่ได้หรอก ถ้าเจตนาดี ก็มีทางรอดดดดด เสมอ  หรือไม่ก็แค่พิการ ไมุ่ถึงตายยยย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.9 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!